ถ้าพูดถึงผักที่เอามาลวกมาต้มแล้วจิ้มกินกับน้ำพริก เชื่อว่าหนึ่งในนั้นจะต้องมีกระเจี๊ยบเขียว เพราะเป็นผักที่ไม่ว่าจะเอามาประกอบเป็นเมนูอะไรก็ให้รสชาติที่อร่อย กินยังไงก็ไม่เบื่อนั่นเอง ทั้งนี้กระเจี๊ยบเขียวยังอัดแน่นไปด้วยสรรพคุณและคุณค่าทางโภชนาการที่น่าสนใจมากๆ อีกด้วย มาดูกันดีกว่าค่ะว่า นอกจากจะเป็นผักที่แนะนำ ดูดไขมันหน้าท้อง สำหรับผู้ป่วยเบาหวานแล้ว ยังให้ประโยชน์แก่ร่างกายอย่างไรกันบ้าง

กระเจี๊ยบเขียว

กระเจี๊ยบเขียว หรือเรียกว่า Lady’s Finger ผลของมันจะมีลักษณะเป็นฝัก คล้ายกับนิ้วมือผู้หญิง มีสีเขียวทรงเรียวยาว และโค้งเล็กน้อย ปลายฝักจะมีความแหลมเป็นจีบ ส่วนผิวฝักจะมีความเหลี่ยมเป็นสัน สันเป็นเหลี่ยมตามยาว 5 เหลี่ยม มีขนอ่อนๆ อยู่ทั่วฝัก ฝักอ่อนจะมีสีเขียว แต่เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ในฝักจะมีน้ำเมือกซึ่งมีความข้นเหนียวอยู่มาก มีเมล็ดกลมอยู่เป็นจำนวนมาก รสชาติของกระเจี๊ยบเขียวจะหวานกรอบอร่อย แต่ฝักแก่จะมีเนื้อเหนียวและไม่นิยมเอามากิน

คุณค่าทางโภชนาการของกระเจี๊ยบเขียว

ในส่วนของคุณค่าทางโภชนาการของกระเจี๊ยบเขียวดิบปริมาณ 100 กรัมจะให้คุณค่าทางสารอาหารที่หลากหลายดังนี้

พลังงาน 33 กิโลแคลอรี, คาร์โบไฮเดรต 7.45 กรัม, น้ำตาล 1.48 กรัม, เส้นใย 3.2 กรัม, ไขมัน 0.19 กรัม, โปรตีน 1.93 กรัม, น้ำ 89.58 กรัม, ธาตุแคลเซียม 82 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 0.62 มิลลิกรัม, ธาตุแมกนีเซียม 57 มิลลิกรัม, ธาตุโพแทสเซียม 299 มิลลิกรัม, ธาตุสังกะสี 0.58 มิลลิกรัม, วิตามินเอ 36 ไมโครกรัม, วิตามินบี1 0.2 มิลลิกรัม, วิตามินบี2 0.06 มิลลิกรัม, วิตามินบี3 1 มิลลิกรัม, วิตามินบี6 0.215 มิลลิกรัม, วิตามินซี 23 มิลลิกรัม, วิตามินอี 0.27 มิลลิกรัม และวิตามินเค 31.3 ไมโครกรัม

สรรพคุณที่ได้จากกระเจี๊ยบเขียว

กระเจี๊ยบเขียวให้สรรพคุณทางยาแก่ร่างกายมากมาย ซึ่งไม่เพียงแต่เฉพาะในส่วนของผลกระเจี๊ยบเท่านั้นที่ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์ แต่ยังรวมไปถึงในส่วนของใบ ดอก เมล็ด และรากของต้นกระเจี๊ยบเขียวอีกด้วย ทั้งนี้สรรพคุณทางยาที่ได้จากส่วนของผลกระเจี๊ยบเขียวมีดังนี้

1.ผลกระเจี๊ยบมีเส้นใยอาหารอยู่เป็นจำนวนมาก มีส่วนช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ โดยจะรักษาระดับการดูดซึมน้ำตาลจากลำไส้ใหญ่ให้คงที่นั่นเอง จึงไม่แปลกเลยที่กระเจี๊ยบเขียวจะจัดเป็นผักที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานอย่างมาก

2.มีส่วนช่วยรักษาโรคความดันโลหิต โดยจะรักษาความดันให้อยู่ในระดับที่ปกติ

3.ช่วยป้องกันอาการหลอดเลือดตีบตัน

4.ผลของกระเจี๊ยบเขียวสามารถเอามาใช้เป็นยาบำรุงสมอง

5.ช่วยแก้อาการหวัด โดยสามารถกินกระเจี๊ยบเขียวเพื่อรักษาอาการหวัดได้ดี

6.เส้นใยที่อุดมอยู่ในกระเจี๊ยบเขียวมีความสามารถในการกำจัดไขมันปริมาณสูงที่น้ำดี ทั้งนี้จะช่วยลดไขมันและคอเลสเตอรอล เสมือนกับกินยาลดไขมันและคอเลสเตอรอลเลยก็ว่าได้

7.มีส่วนช่วยกำจัดสารพิษออกจากร่างกายและช่วยลดคอเลสเตอรอลได้เป็นอย่างดี เส้นในจากกระเจี๊ยบเขียวถือเป็นตัวช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล โดยการจับกับน้ำดี และมักจับสารพิษที่ร่างกายต้องการขับถ่ายที่ถูกส่งมาจากตับได้ ในส่วนของสารเมือกที่อยู่ในฝักยังมีความสามารถช่วยจับสารพิษ ซึ่งจะจับกับน้ำดีที่เกิดในลำไส้และขับออกมาทางอุจจาระ จึงทำให้ไม่เหลือสารพิษตกค้างในลำไส้นั่นเอง

8.กระเจี๊ยบเขียวสามารถเอามาใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ ได้ดี

9.การกินกระเจี๊ยบเขียวเป็นประจำจะช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งช่วยรักษาเยื่อบุกระเพาะและลำไส้อักเสบ ช่วยให้การทำงานของระบบขับถ่ายทำงานได้ดี จึงช่วยให้ถ่ายอุจจาระได้คล่อง และช่วยลดความเสี่ยงของโรคแผลในกระเพาะอาหาร พร้อมทั้งช่วยป้องกันโรคมะเร็งกระเพาะอาหารและมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้อีกด้วย

10.ในกระเจี๊ยบเขียวจะมีสารที่เป็นเมือกเช่น Pectin และ Gum ซึ่งสารทั้งสองชนิดนี้มีคุณสมบัติช่วยเคลือบแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ จึงช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการลุกลามของแผลได้อย่างดี นอกจากนี้ยังช่วยยับยั้งการเกิดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดแผลในกระเพาะอาหารอีกเช่นกัน

11.กระเจี๊ยบเขียวมีส่วนช่วยแก้อาการกรดไหลย้อนได้เป็นอย่างดี โดยเอามาต้มในน้ำเกลือแล้วกินเป็นอาหารจะช่วยแก้อาการให้ดีขึ้นได้

12.การกินกระเจี๊ยบเขียวติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 15 วัน มีส่วนช่วยขับพยาธิตัวจี๊ด ซึ่งมีสาเหตุมาจากการได้รับตัวอ่อนของพยาธิที่อยู่ในเนื้อดิบ แต่บางรายอาจต้องกินกระเจี๊ยบเขียวติดต่อกันเป็นเดือนจึงจะหาย

ยังมีสรรพคุณอีกมากมายที่ได้รับจากการกินผลกระเจี๊ยบเขียว ทั้งนี้แนะนำให้หมั่นประกอบอาหารด้วยการใส่กระเจี๊ยบเขียวเข้าไปในเมนูบ้างเป็นบางครั้งบางคราว เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่มากมายในกระเจี๊ยบเขียวด้วย สำคัญมากไปกว่านั้นก็คือ กระเจี๊ยบเขียวช่วยในเรื่องของการขับถ่าย ช่วยให้ถ่ายคล่อง แถมยังช่วยลดความเสี่ยงของโรคแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอาการที่เสี่ยงเกิดขึ้นสูงจากพฤติกรรมการกินอาหารในแต่ละวันของคนเรานั่นเอง