อีกหนึ่งโรคอันตรายที่อยากจะแนะนำให้ได้รู้จักกันก็คือ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อีกหนึ่งโรคอันตรายที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ โรคนี้นับว่าอันตรายอย่างมากเลยทีเดียว ว่าแต่โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจะเป็นอย่างไร มีวิธีป้องกันอย่างไรบ้าง ไปติดตามพร้อม ๆ กันเลย

เยื่อหุ้มสมองอักเสบ คืออะไร ?

เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) คือโรคที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสบริเวณเยื่อหุ้มสมอง รวมถึงบริเวณไขสันหลัง โดยสามารถเป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งแบคทีเรียรวมถึงเชื้อไวรัสจะส่งผลทำให้เยื่อหุ้มสมองบวมจนเกิดการอักเสบ ความรุนแรงของโรคนี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสมอง ทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งนับว่าอันตรายอย่างมาก แม้ว่าเยื่อหุ้มสมองอักเสบจะสามารถรักษาให้หายได้ แต่ถ้าหากปล่อยเรื้อรังเอาไว้ก็อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้เช่นเดียวกัน

แบคทีเรียกับไวรัส รุนแรงต่างกันอย่างไร?

เยื่อหุ้มสมองอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้จากปัจจัยสำคัญคือ เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อรา ความรุนแรงของเชื้อโรคทั้ง 3 ชนิดนี้ มีความรุนแรงที่แตกต่างกัน หากวินิจฉัยอย่างละเอียดจะสามารถหาต้นตอของโรคได้และสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที ซึ่งเนื้อหาดังต่อไปนี้ เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุต้นตอของโรคนี้กันว่าแต่ละชนิดอันตรายแตกต่างกันอย่างไร

1.เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

เชื้อแบคทีเรีย นับว่าเป็นเชื้อโรคที่อันตรายอย่างมาก หากเชื้อแบคทีเรียสามารถเข้าไปยังเยื่อหุ้มสมองได้จะส่งผลอันตรายต่อสมองอย่างรุนแรงถึงขั้นเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้อย่างรวดเร็ว และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ในที่สุด สำหรับภาวะแทรกซ้อนหลังจากการรับเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ ภาวะปอดติดเชื้ออักเสบและโรคไข้กาฬหลังแอ่น เป็นต้น นอกจากจะสร้างความรุนแรงต่อสมองแล้ว เชื้อแบคทีเรียประเภทนี้ ยังสามารถแพร่กระจายจากภายนอกเข้ามายังทางระบบทางเดินหายใจ โดยผ่านการไอ จาม เข้าทางจมูกหรือหูจนบุกถึงเยื่อหุ้มสมองได้อีกด้วย

2.เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส

สำหรับเชื้อไวรัสนั้น อาการจะไม่รุนแรงเท่าติดเชื้อแบคทีเรีย แต่ผู้ติดเชื้อดังกล่าวก็ไม่ควรประมาทเช่นกัน เพราะ อาการแทรกซ้อนจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อไวรัสก็สามารถสร้างปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันได้มาก เช่น ก่อให้เกิดอาการท้องเสียรุนแรง โดยไวรัสที่สามารถส่งผลทำให้เกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ คือ ไวรัสของโรคอีสุกอีใส, ไวรัสเริมและไวรัสหวัด เป็นต้น แต่ข้อดีสำหรับการติดเชื้อเพราะไวรัสนั้นสามารถหายเองได้ และไม่เป็นอันตรายต่อสมองในระยะยาว แต่ไม่แนะนำให้ปล่อยปละละเลย ควรรับประทานยากลุ่มต้านเชื้อไวรัสเพื่อรักษาให้เร็วที่สุดยิ่งดี

3.เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากการติดเชื้อรา

เชื้อราเป็นเชื้อโรคเพียงชนิดเดียวที่ตรวจพบได้น้อยมาก โดยเฉพาะบุคคลที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง เนื่องจากระบบภูมิกันที่ดี เชื้อราจึงเสี่ยงจะเกิดขึ้นเฉพาะผู้ป่วยภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างเช่นโรคเอดส์เท่านั้น

วิธีสังเกตอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อจนเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาการในระยะแรกจะมีลักษณะคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ แต่หลังจากนั้น 3-4 วัน อาการจะยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยผู้ป่วยสามารถสังเกตได้ดังนี้

  • อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือจะมีอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดหัวรุนแรง มีไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลียและนอนยังไงก็ไม่พอ
  • อาการที่เกิดขึ้นต่อระบบประสาท คือไม่มีสมาธิ สับสน ไม่สามารถจดจ่อทำอะไรได้เหมือนเดิม บางรายอาจมีอาการชักร่วมด้วย
  • สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบคทีเรีย อาจมีผื่นร่วมด้วย นอกจากนี้ยังมีอาการคอแข็ง ดวงตาแพ้แสง อยากอาหารและกระหายน้ำ

นอกจากโรคนี้จะเกิดในผู้ใหญ่แล้ว โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบยังสามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กตั้งแต่อายุ 1- 2 ปีขึ้นไปได้เช่นกัน หากเกิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี เด็กจะมีอาการร้องไห้ตลอดเวลา พร้อมมีไข้ร่วมด้วย นอกจากนี้กระหม่อมอาจจะมีการผิดรูป มีรอยนูน ไม่ดื่มนมดื่มน้ำหรือดื่มน้อยลง

วิธีรักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเกิดจากเชื้อต่างๆ ดังที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งแนวทางในการรักษา แพทย์จะทำการรักษาตามแต่ละสาเหตุของการติดเชื้อนั้นๆ ดังนี้

1.รักษากรณีติดเชื้อแบคทีเรีย

การติดเชื้อแบคทีเรีย ถือเป็นเชื้อโรคที่มีผลร้ายแรงต่อเยื่อหุ้มสมองมากที่สุด ดังนั้น วิธีรักษาจะต้องเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยแพทย์จะทำการรักษาด้วยการฉีดยากลุ่มปฏิชีวนะเข้าเส้นเลือดดำ ซึ่งยาปฏิชีวนะที่แพทย์เลือกใช้ต้องขึ้นอยู่กับประเภทของแบคทีเรียนั้นๆ ด้วย

2.รักษากรณีติดเชื้อไวรัส

เยื่อหุ้มสมองอักเสบเพราะเชื้อไวรัสนั้น โดยปกติอาการจะบรรเทาและหายไปเองได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ วิธีการรักษาคือ นอนหลับพักผ่อนและดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ พร้อมกับทานยาลดไข้ ในรายผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงแพทย์อาจจ่ายยาต้านไวรัสให้รับประทานร่วมด้วย

วิธีป้องกันลูกน้อยให้ห่างไกลโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ !

ในกรณีที่เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กวัย 1-24 เดือน หรืออายุ 2 ขวบ นับว่าเป็นช่วงวัยที่อันตรายอย่างมาก เพราะเด็กยังไม่สามารถสื่อสารหรือบอกอะไรได้ นอกจากทำได้เพียงแค่ร้องไห้ สำหรับวิธีป้องกันเด็กวัย 1 – 24 เดือน ให้ห่างไกลจากโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบสามารถทำได้ด้วยการฉีดวัคซีนฮิบ เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุนำมาสู่โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

วัคซีนฮิบคือ วัคซีนที่สามารถป้องกันเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อโรคต่างๆ ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ โดยวัคซีนดังกล่าวสามารถฉีดได้ในเด็กเล็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป ผลข้างเคียงอาจทำให้เด็กมีอาการเบื่ออาหาร แต่รับรองว่าปลอดภัยห่างไกลโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และโรคอื่น ๆ ที่อาจอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัสได้อย่างแน่นอน